วันเสาร์ที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2556


การแพทย์อิสลามต่อเรอเนสซองยุโรป



ช่วงสิ้นสุดศตวรรษที่ 15 ยุโรปตื่นตัวด้านความรู้, วัฒนธรรม, และวิทยาศาสตร์ไปทั่วทั้งทวีป จากนั้นเรอเนสซองหรือการฟื้นฟูศิลปวิทยาการก็ได้ก่อกำเนิดขึ้น

                 วิทยาศาสตร์การแพทย์เป็นส่วนหนึ่งของแสวงหาทางปัญญาในช่วงนี้ ซึ่งเป็นผลมาจากโรงเรียนแพทย์จำนวนมากมายที่ก่อตั้งขึ้นมาทั่วยุโรป

การแพทย์อิสลามมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการก่อตั้งและการพัฒนาของโรงเรียนแพทย์ในยุโรป โดยเฉพาะในโรงเรียนแพทย์แห่งแรกๆ เช่นที่ซาแลร์โน ด้านใต้ของอิตาลี และที่มองเปลิเอและปารีสในฝรั่งเศส
ช่วงยุคทองของศิลปวิทยาการอิสลามเมื่อ 1,000 ก่อนหน้านี้ ชาวอาหรับมิได้ทำแค่เพียงแปลตำรากรีกมาเท่านั้น พวกเขาสร้างแพทย์ชื่อดังจนเป็นตำนานของยุค, ตัวยารักษาอาการป่วยไข้ซึ่งในสมัยก่อนหน้านั้นยังไม่มีใครรู้จัก, และท้ายที่สุดคือโรงเรียนแพทย์ของพวกเขาซึ่งกลายเป็นแม่แบบของโรงเรียนแพทย์ในโลกตะวันตก 
ยุโรปได้ก่อตั้งโรงเรียนแพทย์แบบเดียวกับอาหรับขึ้นมา, จัดระเบียบองค์กรเหมือนกัน, และก็สอนหลักสูตรเดียวกัน
เราจะมาดูกันถึงการแพทย์อิสลามในศตวรรษที่ 10 จากนั้นก็เป็นบทบาทของการแพทย์อิสลามต่อการแพทย์ยุโรปในช่วงการตื่นตัวทางปัญญาของยุโรปและต่อมาด้วยยุคเรอเนสซอง
ย้อนหลังไปไกลถึงศตวรรษที่ 10 วงการแพทย์อิสลามประกอบไปด้วย 3 ส่วนคือ
1.องค์กรทางการแพทย์แบบใหม่
2.แพทย์ศาสตร์หรือเวชกรรมแบบใหม่
3.เภสัชตำรับแบบใหม่
1. องค์กรทางการแพทย์
องค์กรทางการแพทย์ของอิสลามต่างจากของกรีกโบราณ เพราะองค์กรทางการแพทย์อิสลามประกอบด้วย โรงเรียนแพทย์ซึ่งสอนทฤษฎี, ‘ห้องสมุดที่ล้นหลามไปด้วยหนังสือสาขาต่างๆ, และ โรงพยาบาลให้นักเรียนได้ฝึกฝนรักษาคนไข้โดยตรงและจำแนกแยกแยะอาการของโรค
ตัวอย่างของโรงพยาบาลที่เป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนแพทย์ได้แก่ โรงพยาบาลแบกแดด (อิรัก), โรงพยาบาลเรย์, โรงพยาบาลอิบนุ ตูลูน (อียิปต์)
นอกจากนี้แล้ว องค์กรนี้ยังวางเขื่อนไขให้นักเรียนที่ต้องการศึกษาวิชาแพทย์ศาสตร์ต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการที่มีประธานคณะกรรมการเป็นนักวิทยาศาสตร์ คณะกรรมการชุดนี้ยังมีอำนาจถอนใบอนุญาตของแพทย์รายนั้นได้หากพิจารณาแล้วเห็นว่าแพทย์คนนั้นมีความรู้ไม่เพียงพอ
2. แพทย์ศาสตร์หรือเวชกรรมแผนใหม่
การแพทย์แผนใหม่ของมุสลิมมีพื้นฐานบนการสังเกต ซึ่งคล้ายคลึงกับแพทย์สมัยโบราณ แต่การแพทย์อิสลามได้พัฒนาให้จำแนกแยกแยะลักษณะอาการของโรคเป็นหลายๆ ประเภท ซึ่งระบบนี้ทำให้แพทย์สามารถอธิบายอาการป่วยแบบใหม่ๆ ได้หลายอย่างเช่น โรคไข้ทรพิษ (ฝีดาษ) ที่อธิบายโดย ราเซส (Rhases หรือ อัล-ราซี Al-Rasi ค.ศ.865-925) และ อวิเซนนา (Avicenna หรือ อิบนุซินา Ibn Sina ค.ศ.980-1037), โรคหัด, เยื่อหุ้มปอดอักเสบ, และอื่นๆ 
ตำราชุด Continen ของราเซสประกอบด้วยหนังสือถึง 70 เล่ม ได้รวบรวมความรู้ด้านการแพทย์ในสมัยศตวรรษที่ 10 ไว้ทั้งหมด ส่วนตำรา อัล-กอนูน’ (Qanun หรือ Canon of Medicine) ของอวิเซนนานั้นเขียนด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย ครอบคลุมการแพทย์ทุกสาขา และได้กลายมาเป็น ไบเบิลของวงการแพทย์ของโลกยุคกลาง อัล-กอนูนใช้เป็นตำราแพทย์ในมหาวิทยาลัยแพทย์ยุโรปจนถึงปี 1650 อวิเซนนาได้รับสมญานามว่า เจ้าชายแห่งวงการแพทย์
3. เภสัชตำรับแผนใหม่
ชาวอาหรับพัฒนาสารหรือยาที่ใช้ในการรักษาโรคยุคแรกๆ พวกเขาจัดระบบยาและกฎของศาสตร์ด้านนี้ เราสามารถดูได้จากหนังสือ Nichajat ar Rutba ที่เขียนขึ้นในปี 1236 ส่วนฉบับสำเนาที่คัดลอกในศตวรรษที่ 15 ยังถูกเก็บรักษาไว้ที่กรุงซาราเยโว ประเทศบอสเนีย สิ่งเหล่านี้ทำให้การแพทย์อิสลามขยายตัวไปอย่างรวดเร็ว และตั้งแต่ศตวรรษที่ 10 แล้วที่ชื่อต่อไปนี้ถูกจารึกไว้ในวงการแพทย์ ทั้ง ราเซส ในอิหร่าน, อัล-มากูดี (Al-Macoudy) และอาลีอิบนุ อับบาส อัล-มาจูซี (Ali ibn Abbas al-Majusi เสียชีวิตค.ศ.982-994) ในอิรัก, อิบนุ อัล-จัซซาร์ (Ibn al-Jazzar ค.ศ.855-955) ในตูนีเซีย, และ อัลบูคาซิส’ (Albucasis หรือ อัล-ซาฮ์ราวี Al-Zahrawi ค.ศ.936-1013) ในสเปน
ยุโรปได้ประโยชน์จากพัฒนาการในวงการแพทย์อิสลามเพราะมีชาวยุโรปจำนวนมากเข้าศึกษาในโรงเรียนอิสลามและโดยเฉพาะที่เมืองกอร์โดบา อาณาจักรมุสลิมสเปน เฉพาะที่มีชื่อเสียงได้แก่ เกอร์เบิร์ตแห่งออริแลค (Gerbert of Aurillac ค.ศ.946-1003 ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นโป๊ปซิลเวสเตอร์ที่ 2), เจอราดแห่งครีโมนา (Gerard of Cremona ค.ศ.1114-87), Arnaldus de Villanueva (ค.ศ.1235-1311), คอนสแตนติน ดิอาฟริกัน (Constantine the African หรือ Constantinus Africanus ค.ศ.1020-87), และอื่นๆ
โรงเรียนแพทย์แห่งแรกๆ ในยุโรปเป็นที่รู้จักกันก็เพราะตำราแพทย์อิสลาม ได้แก่ โรงเรียนแพทย์ซาแลร์โนในอิตาลี, มองเปลิเอและปารีสในฝรั่งเศส


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น